Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้มีสุขภาพจิตดี มีความสุขได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ

Posted By Plook TCAS | 08 ก.ย. 66
244 Views

  Favorite

          เชื่อมั่นเหลือเกินว่า คุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ย่อมอยากให้เห็นลูกน้อยมีความสุข หัวเราะได้ ในขณะเดียวกันก็อยากให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต จึงพยายามอบรมสั่งสอน ฝึกฝนหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างให้แก่ลูกน้อย เพื่อให้มีวิชาเป็นอาวุธติดตัว แต่หลาย ๆ ครั้ง ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ เพราะความหวังดีที่มาผสมกับความคาดหวัง อาจกลายเป็นแรงกดดันให้เด็ก ๆ ต้องพยายามสร้างชีวิตให้สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่พอใจ หรือเพื่อให้คิดว่า ความสมบูรณ์แบบคือสิ่งที่จะสร้างความสำเร็จให้แก่ลูกน้อยได้ แต่ชีวิตจริง กับชีวิตในจินตนาการ อาจไม่เหมือนกัน

          เด็กบางคนเติบโตมาอย่างไม่สมบูรณ์แบบก็จริง แต่เขากลับสร้างชีวิตที่สมดุลและมีความสุข ในขณะที่เด็กบางคนที่เติบโตมากับความพยายามสร้างความสมบูรณ์แบบ แต่กลับกลายเป็นเด็กที่ขาด เช่น ขาดความมั่นใจ ขาดพลังในชีวิต และที่สำคัญ ขาดความสุข วันนี้ผู้เขียนเลยขออนุญาตหยิบยกบทความในเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา งานเขียนคม ๆ  “เลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดีแบบมาตาลดา” ของหมอมินบานเย็น หรือ พญ.เบญจพร ตันตสูติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น มาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ  

 

1. พ่อแม่ควรให้ความรัก มีเวลาให้ลูก พูดคุยกับลูก เล่น เล่านิทาน ทำกิจกรรมกับลูกบ่อย ๆ เวลาลูกเล่าอะไรให้ฟัง ก็รับฟังลูก สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลูกที่เติบโตด้วยการได้รับความรัก จะมีความรู้สึกพื้นฐานว่า ฉันก็ดีพอ ที่จะได้รับความรัก

2. สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย ไม่ตามใจเกินไป ให้เขารู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักอดทนรอคอย เด็กที่มีความอดทนอดกลั้น มีความยับยั้งชั่งใจ สามารถควบคุมการกระทำของตัวเอง จะมีความภูมิใจในตัวเอง ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง มากกว่าเด็กที่เอาแต่ใจ ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง

3. สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย อย่าทำอะไรให้ทุกอย่าง จนเขาติดสบายเกินไป เด็กที่ทำอะไรด้วยตัวเองได้ อาจถูกบ้างผิดบ้าง จะมีความภาคภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง

4. ชมเชยเมื่อเห็นว่าลูกทำได้ดี เน้นชมเชยที่กระบวนการ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ไม่ต้องเน้นผลลัพธ์

5. เข้าใจพัฒนาการเด็กพื้นฐาน รู้ว่าเด็กวัยนี้ควรทำอะไรได้หรือยังทำไม่ได้ ไม่เร่งรัดเด็กเกินไปจนเป็นความกดดันและทำให้เกิดความเครียดโดยที่ไม่ตั้งใจ

6. ถ้าลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรให้เรียนรู้การรับผิดชอบ มีการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม แต่ไม่ควรลงโทษด้วยความรุนแรง ให้ลูกรู้ว่าทำผิดก็ต้องปรับปรุงตัวแก้ไข อย่างไรก็ตามทุกคนทำผิดได้ และมีโอกาสที่จะปรับปรุงทำให้ดีขึ้น

7. ยอมรับในธรรมชาติและตัวตน ทุกคนมีความแตกต่างมีเอกลักษณ์ มีข้อดีข้อเสีย เป็นปกติมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า ตรงนี้จะทำให้ลูกเข้าใจและยอมรับในตัวตน มองเห็นคุณค่าในตัวเอง เติบโตเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองได้

8. อย่าเปรียบเทียบลูกของเรากับลูกคนอื่น บางครั้งคำพูดเช่นนี้มักออกมาเวลาที่พ่อแม่โกรธ โมโหลูก

9. สอนให้ลูกจัดการอารมณ์ เวลามีอารมณ์ทางลบ เช่น โกรธ เสียใจ ก็เข้าใจตระหนักอารมณ์ตัวเอง โกรธได้ เสียใจได้ แต่ไม่ทำอะไรไปตามอารมณ์จนเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วย เด็กที่จัดการอารมณ์ได้ดี จะมีความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง

10. เวลาที่ลูกมีปัญหา อย่าเพิ่งรีบช่วยทุกเรื่อง ลองให้ลูกได้แก้ไขปัญหาเองเท่าที่ทำได้ ถ้าไม่ไหวค่อยช่วย การที่ลูกได้แก้ปัญหาเอง จะทำให้มีประสบการณ์ เรียนรู้ แม้ว่าแก้ไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ลอง เขาจะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง เวลาเจอปัญหาในอนาคต จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

 

         อ่านจบ ครบ 10 ข้อแล้ว อาจจะพบคำตอบได้ว่า ที่ผ่านมาเราได้เลี้ยงลูกอย่างขาดสมดุลในชีวิตหรือไม่ สัดส่วนระหว่างความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่กับความฝันของเด็กเป็นอย่างไร เป็นลูกตุ้มที่ถ่วงน้ำหนักกันอย่างเหมาะสมหรือไม่ มีหลายครั้งที่ผลลัพธ์ของความสำเร็จ นำมาซึ่งการเจ็บป่วยทางจิตใจของเด็ก ความเศร้าหมอง หดหู่ ซึมเศร้า ขาดความเคารพในตนเอง ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการอย่างแน่นอน...ใช่มั้ยคะ?

         บางครั้งความไม่สมบูรณ์แบบ อาจจะไม่ใช่อันตรายสำหรับลูก ตรงกันข้าม การมีชีวิตที่ต้องสมบูรณ์แบบทุกด้านอาจอันตรายมากกว่า ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้ลูกรักของเรา...มีความสุข

 

Auntie

 

ที่มาบทความ

เลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดีแบบมาตาลดา https://www.facebook.com/hashtag/เลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดีแบบมาตาลดา

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow